กราฟแท่งเทียนคืออะไร ทำไมนักลงทุนต้องศึกษาเกี่ยวกับกราฟแท่งเทียน ?

กราฟแท่งเทียน คืออะไร มีต้นกำเนิดมาจากไหน สำคัญอย่างไร ทำไมนักลงทุนควรศึกษาทำความเข้าใจกันไว้ สีของตัวเทียนบนกราฟบ่งบอกอะไร เกี่ยวข้องกับจุดซื้อ-ขายหรือไม่ ?

กราฟแท่งเทียน คืออะไร ?
กราฟแท่งเทียน

‘อยากลงทุนต้องศึกษาการดูกราฟแท่งเทียน’ ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนต่างก็ทราบกันดี แต่สำหรับมือใหม่เพิ่งเข้าวงการที่ยังไม่มีความรู้พื้นฐาน อาจจะยังไม่ทราบว่ากราฟแท่งเทียน คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร วันนี้ FINN ได้รวบรวมพื้นฐานที่ควรทราบเกี่ยวกับกราฟแท่งเทียนมาฝากไว้ในบทความนี้อย่างครบครัน

กราฟแท่งเทียน คืออะไร ?

กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่นักลงทุน และนักวิเคราะห์ทางการเงินใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน หรือสินทรัพย์อื่น ๆ กราฟแท่งเทียนมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพร้อมเส้นแนวตั้งที่เรียกว่า "ไส้เทียน" ซึ่งแสดงถึงช่วงราคาสูงสุด และต่ำสุดในช่วงเวลาที่กำหนด ส่วนสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า "ตัวเทียน" (Body) จะแสดงถึงความแตกต่างระหว่างราคาเปิด (Opening Price) และราคาปิด (Closing Price)

กราฟแท่งเทียนช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นพฤติกรรมของตลาดในเชิงลึกมากขึ้น โดยสามารถสังเกตความสัมพันธ์ของราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด ราคาเปิด และราคาปิดในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน 

นอกจากนี้รูปแบบของกราฟแท่งเทียนยังสามารถใช้เป็นสัญญาณเพื่อคาดการณ์แนวโน้มของราคาในอนาคตได้ เช่น รูปแบบ Hammer Doji หรือ Engulfing

ด้วยความสามารถในการแสดงข้อมูลในลักษณะที่เข้าใจง่าย และชัดเจน กราฟแท่งเทียนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis) และเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนทั่วโลก

กราฟแท่งเทียน ที่มา
ต้นกำเนิดกราฟแท่งเทียน

ต้นกำเนิดกราฟแท่งเทียน

Uhas ให้ข้อมูลว่า กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น โดยผู้คิดค้นคือ ฮนมะ มูเนฮิสะ (Honma Munehisa) ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2267 เขาเป็นนักลงทุน และพ่อค้าที่มีความสามารถโดดเด่น โดยได้ออกแบบกราฟแท่งเทียนขึ้นมาเพื่อใช้วิเคราะห์ตัวเลขทางการเงิน และกิจการของครอบครัว ฮนมะได้เขียนหนังสือสำคัญที่เป็นรากฐานของกราฟแท่งเทียน เช่น ซากาตะ เฮนโซ (SAKATA HENSO) และ โซบะ ซาไออิ โน เดน (SOBA SAIN NO DEN) ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิด และกลยุทธ์การวิเคราะห์ราคาของเขา

ในเวลาต่อมากราฟแท่งเทียนได้รับการนำมาใช้ในตลาดหุ้นแถบตะวันตกในปี พ.ศ. 2525 และกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ทางเทคนิค ด้วยความสามารถในการแสดงข้อมูลราคาที่ครบถ้วน และเข้าใจง่าย กราฟแท่งเทียนยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในระดับสากล และในปี พ.ศ. 2530 ได้เริ่มถูกนำมาใช้วิเคราะห์ในตลาดหุ้นไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมากราฟแท่งเทียนได้กลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ

กราฟแท่งเทียน บอกข้อมูลอะไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ?

กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) จะทำการบอกข้อมูลหลักที่สำคัญ 4 ส่วน ซึ่งช่วยในการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของราคาสินทรัพย์ในช่วงเวลาที่กำหนด ได้แก่

  • ราคาเปิด (Opening Price) คือ ราคาของสินทรัพย์ ณ เวลาที่เริ่มต้นช่วงเวลานั้น
  • ราคาปิด (Closing Price) คือ ราคาของสินทรัพย์ ณ เวลาที่สิ้นสุดช่วงเวลานั้น
  • ราคาสูงสุด (High Price) คือ ราคาสูงสุดที่สินทรัพย์มีการซื้อขายในช่วงเวลาดังกล่าว
  • ราคาต่ำสุด (Low Price) คือ ราคาต่ำสุดที่สินทรัพย์มีการซื้อขายในช่วงเวลาดังกล่าว

และกราฟแท่งเทียนจะประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ตัวเทียน (Body) ซึ่งมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า บ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างราคาเปิด และราคาปิด 
  • ไส้เทียน (Wick หรือ Shadow) ที่ยื่นออกจากตัวเทียนด้านบน และด้านล่าง บ่งบอกถึงช่วงราคาสูงสุด และต่ำสุด 
สีกราฟแท่งเทียน ความหมาย
สีของกราฟแท่งเทียนบอกอะไร ?

สีของกราฟแท่งเทียนบอกอะไร ?

สีของตัวเทียนบนกราฟนั้นมักบ่งบอกถึงทิศทางของราคา หากตัวเทียนเป็นสีเขียว หมายถึง ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มขาขึ้น (Bullish) ในทางกลับกัน หากตัวเทียนเป็นสีแดง หมายถึง ราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มขาลง (Bearish)

กราฟแท่งเทียน จุดซื้อขาย เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

Candlestick Chart และจุดซื้อขาย (Entry and Exit Points) มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากกราฟแท่งเทียนเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักลงทุนใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของราคาสินทรัพย์ และการตัดสินใจในการเข้าซื้อ (Entry) หรือขาย (Exit) สินทรัพย์ในเวลาที่เหมาะสม กราฟแท่งเทียนช่วยให้มองเห็นความสัมพันธ์ของราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุดในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการคาดการณ์แนวโน้มราคาในอนาคต

นักลงทุนสามารถใช้รูปแบบของกราฟแท่งเทียน เช่น Hammer, Doji, Engulfing, หรือ Shooting Star ในการระบุจุดซื้อขาย ตัวอย่างเช่น รูปแบบ Hammer ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งเทียนที่มีตัวเทียนสั้น และไส้เทียนล่างยาว อาจเป็นสัญญาณของการกลับตัวของแนวโน้มจากขาลงเป็นขาขึ้น นักลงทุนอาจใช้รูปแบบนี้เป็นจุดเข้าซื้อ ในทางกลับกันรูปแบบ Shooting Star ที่มีตัวเทียนสั้น และไส้เทียนบนยาว อาจเป็นสัญญาณของการกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง และนักลงทุนอาจพิจารณาขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไรหรือป้องกันการขาดทุน

กราฟแท่งเทียน จุดซื้อ-ขาย
ทำไมกราฟแท่งเทียนถึงเป็นที่นิยม

ทำไมกราฟแท่งเทียนถึงเป็นที่นิยม ?

เหตุผลที่กราฟแท่งเทียนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักลงทุน และนักวิเคราะห์ทางการเงิน เนื่องจากความสามารถในการแสดงข้อมูลที่ครบถ้วน และเข้าใจง่าย กราฟแท่งเทียนสามารถแสดงพฤติกรรมของราคาสินทรัพย์ในช่วงเวลาที่กำหนดได้อย่างชัดเจน 

อีกหนึ่งเหตุผลคือความยืดหยุ่น และการใช้งานได้หลากหลาย ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดคริปโตเคอร์เรนซี นอกจากนี้กราฟแท่งเทียนยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่น ๆ เช่น เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Averages) และดัชนีชี้วัดทางเทคนิค (Indicators) เพื่อเสริมสร้างความแม่นยำในการวิเคราะห์

ด้วยความชัดเจนในการแสดงข้อมูลและความง่ายในการอ่าน และตีความ กราฟแท่งเทียนจึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับนักลงทุนทุกระดับ ตั้งแต่มือใหม่ที่เริ่มต้นเรียนรู้ไปจนถึงนักลงทุนมืออาชีพที่ต้องการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนอย่างมีเหตุผลและมั่นใจนั่นเอง

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้แล้วทุกคนคงทราบถึงเหตุผลที่นักลงทุนจะต้องศึกษาเกี่ยวกับการดูกราฟแท่งเทียนกันแล้ว FINN ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้นักลงทุนมือใหม่ทุกคน หมั่นศึกษาพัฒนาฝีมือในการเลือกลงทุนเพื่อให้เงินทุนออกดอกออกผล และสำหรับใครที่ต้องการวางแผนทางการเงินให้กับตัวเองในอนาคต สามารถปรึกษา FINN ได้เลย  https://go.finn-app.com/finnis0424