หนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียน คืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไร
หนี้สินหมุนเวียน คืออะไร มีลักษณะอย่างไร ? หนี้สินหมุนเวียนมีอะไรบ้าง ? หนี้สินไม่หมุนเวียน คืออะไร มีอะไรบ้าง ? หนี้สินทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ?
‘หนี้สิน’ สิ่งที่กลายเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิตของใครหลาย ๆ คน เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันนี้นั้นส่งผลให้เราทุกคนต่างก็มีหนี้สินติดตัวกันอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับใครที่ไม่มีหนี้สินติดตัวเลยในยุคนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่โชคดี และต่างก็เป็นที่อิจฉาอย่างมาก
แล้วสำหรับผู้ที่มีหนี้สินติดตัวกันอยู่นั้นรู้หรือไม่ว่าหนี้ที่เรามีอยู่ ถูกจัดเป็นหนี้สินประเภทต่าง ๆ หลายประเภทด้วยกัน โดยผู้ที่มีหนี้สินหรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการเงิน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการคงเคยได้ยินคำว่าหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียนผ่านหูกันมาบ้าง แต่แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่ทราบว่าหนี้สิน 2 ประเภทนี้นั้น คืออะไร มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร วันนี้ FINN ได้นำความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวกับหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียนมารวมไว้ให้ ลองอ่านทำความเข้าใจเป็นความรู้ติดตัวกันเอาไว้ จะได้ทราบว่าหนี้สินที่เรามีอยู่นั้นเป็นหนี้สินประเภทไหน และวางแผนการจัดการการเงินของตนเองได้นั่นเอง
หนี้สินหมุนเวียน คืออะไร ?
Business Plus ให้ข้อมูลหนี้สินหมุนเวียนว่า หนี้สินหมุนเวียน (Current Liability) เป็นหนี้สินที่มีการกำหนดระยะเวลาในการชำระคืนที่ชัดเจน หรือก็คือต้องชำระคืนภายใน 12 เดือน (1 ปี) นับตั้งแต่วันที่เป็นหนี้สิน หรือวันที่ระบุในงบแสดงฐานะทางการเงิน ทั้งนี้นั้นความสามารถในการชำระหนี้สินหมุนเวียนนั้นจะแปรผันไปขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ของกิจการ และสามารถทำการชำระคืนได้หลายวิธี เช่น ชำระเป็นเงินสด ชำระด้วยสินทรัพย์หมุนเวียน หรือเปลี่ยนภาระผูกพันเก่าให้กลายเป็นภาระผูกพันใหม่
กล่าวโดยสรุปง่าย ๆ ก็คือหนี้สินหมุนเวียน เป็นหนี้สินระยะสั้นที่จะต้องทำการชำระคืนภายในระยะเวลาหนึ่งปีนั่นเอง
รู้จักหนี้สินหมุนเวียน ประเภทต่าง ๆ
หลังจากที่พอจะทราบกันไปแล้วว่าหนี้สินหมุนเวียนคือหนี้สินที่มีลักษณะเป็นอย่างไร ก็อาจทำให้บางคนสงสัยว่าหนี้สินหมุนเวียนนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งปกติแล้วเราจะสามารถดูหนี้สินหมุนเวียนได้จากงบการเงินในส่วนของงบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล) โดยหนี้สินหมุนเวียนที่จะเห็นกันอยู่เป็นประจำก็คือ
เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคาร
- เงินเบิกเกินบัญชี : คือสินเชื่อรูปแบบหนึ่งที่ธนาคารให้ผู้กู้สามารถเบิกเงินได้เกินกว่ายอดฝากตามวงเงินที่กำหนดไว้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินงานปกติของกิจการในแต่ละวัน
- เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน : คือเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกำหนดชำระภายใน 1 ปี
เจ้าหนี้การค้า
หนี้สินหมุนเวียนประเภทนี้นั้นก็คือหนี้ที่เกิดจากการที่เรานั้นได้ทำการซื้อสินค้ามาแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน ซึ่งหนี้สินหมุนเวียนลักษณะนี้นั้นลูกหนี้จะต้องทำการคุยกับเจ้าหนี้ว่าจะมีการทำการชำระค่าสินค้าหรือบริการเมื่อไหร่ โดยปกติแล้วจะมีระยะเวลากำหนดชำระค่าสินค้าและบริการไม่เกิน 12 เดือน
ตั๋วเงินจ่าย
หนี้สินหมุนเวียนประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่ระบุจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายในอนาคตไว้อย่างชัดเจน
เงินปันผลค้างจ่าย
สำหรับหนี้สินหมุนเวียนประเภทนี้นั้นจะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการมีการประกาศว่าจะทำการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินปันผล ส่งผลให้เงินปันผลเหล่านั้นกลายเป็นหนี้สินหมุนเวียนซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าหนี้นั่นเอง
เงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี
ในส่วนของหนี้สินหมุนเวียนประเภทนี้นั้นจะถือเป็นหนี้สินระยะยาวที่มีการกำหนดระยะเวลาชำระคืนเป็นจำนวนแน่นอนภายในเวลา 1 ปี เช่น การกู้ยืมเงินธนาคารมาทำธุรกิจเพิ่มเติม จำนวน 560,000 บาท มีระยะเวลาผ่อนนาน 8 ปี โดยผ่อนปีละ 70,000 บาท แสดงว่า จะต้องทำการเตรียมเงิน 70,000 บาทไว้ชำระตามรอบบัญชี
เงินมัดจำและเงินประกัน
เป็นหนี้สินหมุนเวียนที่อยู่ในลักษณะเงินหรือหลักทรัพย์ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับจากลูกค้าหรือพนักงานเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะปฏิบัติตามสัญญาซึ่งได้กำหนดไว้ หรือรับประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ และเมื่อปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ผู้ประกอบกิจการต้องคืนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนั่นเอง
หนี้สินไม่หมุนเวียน คืออะไร ?
หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non - Current Liability) คือ หนี้สินระยะยาวที่เป็นภาระผูกพันของกิจการ และมีระยะเวลาการชำระหนี้มากกว่า 1 ปีขึ้นไป ซึ่งหนี้สินไม่หมุนเวียนที่เราสามารถเห็นกันได้โดยทั่วไป เช่น
- เงินกู้ยืมระยะยาว : เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพื่อซื้อทรัพย์สินในการประกอบกิจการ เช่น กู้ยืมเพื่อสร้างโรงงานหรือซื้อเครื่องจักร ซึ่งมีระยะเวลาการชำระหนี้มากกว่า 1 ปีขึ้นไปนั่นเอง
- หุ้นกู้และพันธบัตร : ถือเป็นเงินกู้ยืมระยาวด้วยจุดประสงค์เดียวกับการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน แต่เจ้าหนี้คือนักลงทุน/หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการลงทุน โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีระยะเวลาในการชำระหนี้สั้นกว่าการกู้ยืมจากธนาคาร
- ตั๋วเงินจ่ายระยะยาว : ตั๋วที่สัญญาว่าจะใช้เงินคืนในอนาคต ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับหุ้นกู้ มีสัญญาการจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย เพียงแต่ดำเนินการได้ง่ายกว่า เนื่องจากไม่ต้องนำไปขายในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง
- หนี้จำนอง : หนี้จำนองคือการกู้ยืมโดยใช้ทรัพย์สินของกิจการไปเข้าจำนองกับสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อนำเงินทุนมาหมุนเวียนในกิจการต่อไป
หนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียน ต่างกันอย่างไร ?
หลังจากที่ได้ทราบว่าหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียนกันไปแล้วว่าหนี้สินทั้งสองแบบนี้คืออะไร FINN เชื่อว่าคงมีหลายคนที่สามารถจับจุดได้ว่าหนี้สินทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะ FINN จะสรุปให้เข้าใจคอนเซปต์ง่าย ๆ โดยความแตกต่างระหว่างหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียนก็คือ หนี้สินหมุนเวียน คือหนี้สินที่เป็นหนี้ระยะสั้น และมีกำหนดในการชำระคืนไม่เกินหนึ่งปี ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียน คือหนี้สินระยะยาว ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาในการชำระคืนมากกว่า 1 ปีขึ้นไปนั่นเอง
สำหรับใครที่มีปัญหาหนี้สินมากมายจนหนักใจ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินหมุนเวียน หรือหนี้สิน ไม่หมุนเวียนก็สามารถปรึกษา FINN ได้ เพราะนอกจาก FINN จะมีบริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าแล้ว ก็ยังมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเงินที่พร้อมจะให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินของทุกคน และทำให้เรื่องการบริหารจัดการการเงินกลายเป็นเรื่องง่าย หากใครต้องการคำปรึกษา ก็สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามได้ https://go.finn-app.com/finnis0424 FINN พร้อมให้คำปรึกษาด้วยความใส่ใจ ดูแลให้ด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ