อัปเดตกลยุทธ์นักต้มตุ๋น ลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ!

ไม่อยากโดนหลอกต้องรู้ให้ทัน มิจฉาชีพ คืออะไร กลลวงที่มิจฉาชีพชอบใช้มีอะไรบ้าง จะสามารถเช็คเบอร์มิจฉาชีพได้อย่างไร ? วิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองโดนหลอก และตกเป็นเหยื่อ

มิจฉาชีพ นักต้มตุ๋น
มิจฉาชีพ

ยุคนี้เป็นยุคที่มิจฉาชีพระบาดหนัก คนมากมายตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักล้าน บางครั้งโดนหลอกจนเป็นหนี้ ต้องมานั่งปลดหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ใช้จ่าย เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการรู้ทันมิจฉาชีพกันให้มาก วันนี้ FINN ได้รวบรวมกลลวงต่าง ๆ ที่มีหลายคนโดนหลอกกันไปเป็นจำนวนมาก มาอัปเดตให้เพื่อน ๆ ไว้ป้องกันตนเอง

มิจฉาชีพ คืออะไร ?

มิจฉาชีพ คือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้วิธีการหลอกลวง หรือฉ้อโกงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพนั้นครอบคลุมหลายรูปแบบ ทั้งการหลอกลวงทางด้านการเงิน การขายสินค้า หรือบริการที่ไม่เป็นจริง การปลอมแปลงเอกสาร การใช้เทคโนโลยีในโลกออนไลน์เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล การชักชวนตีสนิทพูดคุย รวมไปถึงการให้ข้อมูลเท็จเพื่อให้เข้าใจผิด และการข่มขู่ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้มิจฉาชีพมักจะใช้วิธีการที่แยบยล และเน้นการสร้างความเชื่อใจให้กับเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้นการรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ลองศึกษาดูจากหัวข้อถัดไปที่ FINN ได้นำมาฝากได้เลย

กลลวงที่มิจฉาชีพชอบใช้
กลลวงมิจฉาชีพ

กลลวงที่มิจฉาชีพชอบใช้

  • การโทรหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ : มิจฉาชีพมักจะแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ เช่น ตำรวจ หรือกรมศุลกากร โดยจะข่มขู่หรืออ้างว่าผู้รับสายมีความผิดบางอย่าง และให้โอนเงินเพื่อปิดคดี หรือเพื่อดำเนินการบางอย่าง หากผู้เสียหายไม่ทำตามก็จะถูกขู่จะดำเนินคดีเพิ่มเติม
  • การปลอมตัวเป็นบุคคลหรือองค์กรที่เชื่อถือได้ : ปลอมตัวเป็นบริษัทหรือองค์กรที่มีชื่อเสียง เช่น ธนาคาร บริษัทจัดส่งพัสดุ หรือบริษัทโทรคมนาคม ส่งข้อความหรืออีเมลเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว หรือแจ้งว่าผู้รับมีเงินรางวัลที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนถึงจะได้รับ
  • การหลอกลวงลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง : การชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจหรือแผนการที่ดูเหมือนจะทำกำไรสูงในเวลาอันสั้น เช่น การลงทุนในคริปโตเคอเรนซี หรือการแชร์ลูกโซ่ มิจฉาชีพมักใช้ผลตอบแทนสูง ๆ เป็นเหยื่อล่อให้คนหลงเชื่อและร่วมลงทุน 
  • การแฮกบัญชีโซเชียลมีเดีย และขอเงินจากเพื่อนหรือครอบครัว : มิจฉาชีพจะเข้าควบคุมบัญชีโซเชียลมีเดียของผู้เสียหาย แล้วส่งข้อความไปยังเพื่อนหรือคนรู้จักเพื่อขอยืมเงิน โดยแสร้งว่าผู้เสียหายประสบเหตุการณ์เร่งด่วน เช่น รถเสีย หรือปัญหาสุขภาพ ทำให้คนใกล้ชิดโอนเงินไปโดยไม่ทันระวัง
  • การใช้เว็บไซต์ปลอม : สร้างเว็บไซต์ปลอมที่มีหน้าตาคล้ายกับเว็บไซต์จริงของธนาคารหรือร้านค้าออนไลน์ เพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หรือข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งนำไปสู่การขโมยเงิน หรือข้อมูลส่วนตัว
  • การส่ง SMS หลอกลวง : ทำการส่งข้อความ SMS ที่แอบอ้างว่าเป็นธนาคาร หรือบริษัทจัดส่งพัสดุ โดยภายในข้อความจะมีลิงก์ที่นำไปยังเว็บไซต์ปลอม เมื่อผู้เสียหายคลิกลิงก์ และกรอกข้อมูล ก็จะถูกขโมยข้อมูลสำคัญ และนำไปใช้ในทางที่ผิด
  • หลอกให้รักก่อนหลอกเอาเงิน (Romance Scam)  : มิจฉาชีพจะเข้าหาผู้เสียหายผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ หรือโซเชียลมีเดีย โดยการสร้างความสัมพันธ์ทางออนไลน์ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการพูดคุยเพื่อสร้างความเชื่อใจ หลังจากที่ผู้เสียหายหลงเชื่อในความสัมพันธ์แล้วจะแอบอ้างว่าประสบปัญหาทางการเงิน เช่น ต้องการเงินค่ารักษาพยาบาล หรือค่าเดินทางเพื่อมาเจอกัน ผู้เสียหายจึงมักโอนเงินให้ด้วยความเต็มใจ 
เช็กเบอร์มิจฉาชีพ
เบอร์ของมิจฉาชีพ

เบอร์มิจฉาชีพ เช็คเบอร์มิจฉาชีพ

แน่นอนว่าการเช็คเบอร์มิจฉาชีพ ก็ถือว่าเป็นวิธีการตรวจสอบว่าผู้ที่ติดต่อกับเราอยู่นั้นเป็นมิจฉาชีพหรือไม่แบบง่าย ๆ โดยปัจจุบันก็มีทางเลือกในการตรวจสอบเบอร์มิจฉาชีพที่ทำได้ง่าย ๆ โดยมีวิธีการต่าง ๆ มากมาย ดังนี้

  • เสิร์ชเบอร์หาข้อมูลจาก Google หรือ Facebook
  • เช็กผ่านแอปพลิเคชันที่น่าเชื่อถือ เช่น WHOSCALL , Call Blocker , TrueCaller 
  • เช็กผ่านเว็บไซต์  Blacklistseller
  • เช็กผ่านค่ายมือถือ AIS 1185 , DTAC 1678 , True 9777
  • เช็กกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการกระทำผิดของมิจฉาชีพโดยตรง (บช.สอท.) 1441

วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

หลังจากที่ได้อัปเดตกลลวงที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกลวงผู้คนอยู่บ่อยครั้งไปแล้วนั้น แน่นอนว่าก็ต้องยอมรับว่าหลายวิธีนั้นแนบเนียนจนบ่อยครั้งเราอาจเผลอตัวหลงกลได้ แล้วเราจะสามารถปกป้องตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้อย่างไร ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลวิธีป้องกันการเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเอาไว้ว่า 

  • เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดหรือแอบอ้างในการทำธุรกรรมต่าง ๆ
  • ควรเปลี่ยนรหัสผ่านสำหรับบัญชีอีเมลและโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการโดนแฮก
  • หากได้รับการติดต่อให้โอนเงิน ควรตรวจสอบความถูกต้องก่อนเสมอ โดยการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กรมศุลกากร (โทร. 1164) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (โทร. 1213) เพื่อยืนยันข้อมูล
  • อย่าหลงเชื่อว่าจะได้รับเงิน หรือผลตอบแทนที่มากเกินจริง ควรไตร่ตรองให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลโกง
  • สแกนและตรวจสอบไวรัสในคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการใช้งาน
  • ไม่ไว้ใจเพื่อนทางอินเทอร์เน็ต ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัว หรือลงทุนตามที่โดนชักชวน
  • ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับกลโกงอยู่เสมอ เพื่อรับทราบวิธีการใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพและป้องกันตัวเองได้ทันท่วงที

เพียงเท่านี้ก็จะสามารถป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพในเบื้องต้นได้ สิ่งสำคัญคืออย่าไว้ใจใครโดยง่าย และต้องไม่ลืมที่จะอัปเดตข่าวสารใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้รู้เท่าทันการหลอกลวงทุกรูปแบบนั่นเอง

เจอมิจฉาชีพต้องทำอย่างไร ?
โดนมิจฉาชีพหลอก ต้องทำอย่างไร ?

โดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน ต้องทำอย่างไร ?

สำหรับใครที่เจอเข้ากับมิจฉาชีพแบบจัง ๆ และสงสัยว่าหากตนเองนั้นโดนมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินจะต้องมีวิธีในการปฏิบัติตัวอย่างไร สำหรับผู้ที่โดนมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินไปให้ จะต้องรีบปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้

  • หากได้ทำการโอนเงินให้มิจฉาชีพแล้ว ให้รีบติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ใช้บริการ เพื่อขอระงับการโอน และการถอนเงินทันที
  • ในกรณีที่ไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมด รวมถึงการสนทนา การโอนเงิน หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมลงบันทึกประจำวันในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมาย 

จากนั้นติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการเพื่อขอระงับการถอนเงินจากบัญชีที่โอนไป โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินจะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนจึงจะสามารถดำเนินการคืนเงินให้ได้ในเวลาต่อมา

FINN หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยให้ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ นอกจากนี้สำหรับใครที่ต้องการที่ปรึกษาด้านการเงินเพิ่มเติม หรือต้องการใช้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของตนเองมาใช้ ก็ปรึกษา FINN ได้ https://go.finn-app.com/finnis0424 สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้เลย