ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำคัญอย่างไร ส่งผลอย่างไรกับการวางแผนทางการเงิน ?
ภาษีเงินได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร ? รู้จักประเภทของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตราต่าง ๆ ใครบ้างที่มีหน้าที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ? วิธีลดหย่อนภาษี
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ความรู้ด้านการเงินพื้นฐานที่ผู้มีเงินได้ทุกคนควรทราบเอาไว้ เพราะไม่งั้นอาจเผลอตัวทำผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ วันนี้ FINN รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาให้ในบทความนี้แบบจัดเต็ม
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา vs ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้ คือ ภาษีที่ผู้ที่มีรายได้ทุกคนต้องชำระให้กับรัฐบาลตามที่กฎหมายภาษีกำหนด ซึ่งกฎหมายภาษีเงินได้นี้มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 โดยภาษีเงินได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้ของบุคคลธรรมดาหรือผู้มีรายได้ทั่วไป เช่น รายได้จากการทำงาน ค่าจ้าง เงินเดือน หรือรายได้จากธุรกิจส่วนตัว ซึ่งผู้มีรายได้จะต้องนำรายได้เหล่านี้มาคำนวณและยื่นแบบเพื่อเสียภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยมีการจัดเก็บแบบขั้นบันไดตามจำนวนรายได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษี
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคลคือภาษีที่จัดเก็บจากรายได้ของนิติบุคคล เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย รายได้ของนิติบุคคลอาจมาจากการดำเนินธุรกิจ การขายสินค้า หรือการให้บริการ นิติบุคคลจะต้องนำรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายมาคำนวณเพื่อเสียภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำคัญอย่างไร ?
แน่นอนว่าคงมีบางคนสงสัยว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราถึงต้องจ่าย คำตอบก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ รายได้จากภาษีประเภทนี้เป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลที่นำไปใช้ในการจัดทำงบประมาณเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ เช่น การศึกษา สาธารณสุข และความมั่นคง รวมถึงโครงการสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับประชาชน การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังเป็นหน้าที่ทางกฎหมายและจริยธรรมที่ช่วยสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีกี่ประเภท ?
รู้หรือไม่ว่านอกจากจะมีการแบ่งประเภทภาษีเงินได้เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นยังมีการแบ่งประเภทย่อยตามมาตราต่าง ๆ อีกมากมาย ดังต่อไปนี้
- เงินได้ตามมาตรา 40(1) คือ รายได้จากการเป็นลูกจ้าง เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส
- เงินได้ตามมาตรา 40(2) คือ รายได้จากการทำงานที่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง เช่น ค่าคอมมิชชั่น ค่าวิทยากร
- เงินได้ตามมาตรา 40(3) คือ รายได้จากค่าลิขสิทธิ์หรือสิทธิ์ต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา
- เงินได้ตามมาตรา 40(4) คือ รายได้จากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล
- เงินได้ตามมาตรา 40(5) คือ รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
- เงินได้ตามมาตรา 40(6) คือ รายได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทนายความ
- เงินได้ตามมาตรา 40(7) คือ รายได้จากการรับเหมาก่อสร้างหรือการผลิตตามสั่ง
- เงินได้ตามมาตรา 40(8) คือ รายได้อื่น ๆ เช่น รายได้จากธุรกิจพาณิชย์ เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม
ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็จะต้องทำการตรวจสอบดูว่าเงินได้ของตัวเองนั้นเป็นเงินได้ที่ตรงกับมาตราไหน โดยเฉพาะคนที่มี Passive Income หลายช่องทางต้องดูให้ดี และทำการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในมาตรานั้น ๆ นั่นเอง
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรมสรรพากรให้ข้อมูลผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า บุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือผู้ที่มีรายได้ (เงินได้) เกิดขึ้นระหว่างช่วงปีภาษีที่ผ่านมา โดยมีสถานะในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนี้
- บุคคลธรรมดาที่มีรายได้
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
- ผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งระหว่างทายาท
- วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ซึ่งต้องเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
ไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผิดกฎหมายหรือไม่ ?
การไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามกฎหมายภาษีของประเทศไทย ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีให้ถูกต้องและตรงเวลา หากไม่ยื่นภาษีหรือยื่นภาษีไม่ครบถ้วน อาจต้องรับโทษทางกฎหมาย เช่น การเสียค่าปรับ ดอกเบี้ย หรือในบางกรณีอาจมีโทษทางอาญา เช่น การถูกดำเนินคดี
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับการวางแผนทางการเงิน
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นส่งผลต่อการวางแผนทางการเงินอย่างไร ความจริงแล้วภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีบทบาทสำคัญในการวางแผนทางการเงินของเราเป็นอย่างมาก เพราะการคำนวณ และจัดการภาษีอย่างถูกต้องสามารถช่วยให้เราจัดสรรรายได้เพื่อออม และลงทุนได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถวางแผนการใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีในส่วนที่สามารถลดหย่อนได้อีกด้วยนั่นเอง
วิธีลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าหากเราศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็จะสามารถวางแผนใช้จ่ายเพื่อทำการลดหย่อนภาษีได้ โดยจะมีรายการค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ดังนี้
ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าใช้จ่ายด้านครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว : สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส : สำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร : ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร : ลดหย่อนได้ไม่เกินคนละ 30,000 บาท
- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา : ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 4 คน
- ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ : ลดหย่อนได้สูงสุด 60,000 บาท
ค่าใช้จ่ายจากจากการลงทุน และประกันต่าง ๆ
- ประกันสังคม : สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 6,300 บาทต่อปี
- ประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ : ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีภาษี โดยต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดา : ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อปี
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ : ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของค่าเบี้ยที่จ่าย แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปีภาษี โดยต้องมีระยะเวลาคุ้มครองมากกว่า 10 ปี
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) : ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้รวม แต่ไม่เกิน 500,000 บาทสำหรับ RMF และ 200,000 บาทสำหรับ SSF ต่อปี
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องคำนวณภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ : ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องคำนวณภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจ : ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
นอกจากนี้ยังมีเงินบริจาคที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้ เช่น เงินบริจาคให้วัดหรือมูลนิธิต่าง ๆ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่น
ข้อมูลเหล่านี้ก็คือข้อมูลที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ทุกคนควรทราบเอาไว้ และสำหรับใครที่ต้องการความรู้ด้านการเงินเพิ่มเติมก็สามารถให้ FINN เป็นผู้ช่วยได้ นอกจากนี้ FINN ยังมีบริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าสำหรับผู้ที่มีบิลฉุกเฉินต้องจ่าย https://go.finn-app.com/finnis0424 สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้เลย