สัญญากู้ยืมเงิน สำคัญอย่างไร หากโดนยืมเงินไม่คืน แจ้งความได้ไหม?
สัญญากู้ยืมเงินมีความสำคัญอย่างไร เมื่อถูกขอยืมเงินจำเป็นต้องทำสัญญาหรือไม่ ? หากโดนยืมเงินแล้วไม่คืนแจ้งความได้ไหม จะต้องทำอย่างไรเมื่อถูกยืมเงินแล้วไม่คืน ?
เพราะเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร สัญญากู้ยืมเงินจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าผู้ขอยืมเงิน หรือผู้ให้ยืมเงินก็จะละเลยไปไม่ได้ วันนี้ FINN นำเรื่องที่ควรทราบเกี่ยวกับสัญญากู้ยืมเงินมาฝากให้ ลองอ่านดูว่าสัญญายืมเงินส่วนบุคคลนั้นมีความสำคัญอย่างไร เป็นเพื่อนกัน สนิทกัน ต้องมีสัญญากู้ยืมเงินหรือไม่ ทำไมต้องมี ?
สัญญากู้ยืมเงิน คืออะไร ?
สัญญากู้ยืมเงิน คือ สัญญาข้อตกลงระหว่างผู้กู้ และผู้ให้กู้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการยืมเงินจากผู้ให้กู้เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่ตกลงกัน โดยผู้กู้จะต้องชำระคืนเงินที่ยืมไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญากู้ยืมเงิน เช่น ระยะเวลาในการชำระคืน อัตราดอกเบี้ย และวิธีการชำระเงิน สัญญากู้ยืมเงินจะทำได้ในรูปแบบของสัญญาลายลักษณ์อักษรซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการทางกฎหมายสามารถทำได้ง่ายขึ้นหากเกิดข้อพิพาท ทั้งนี้สัญญากู้ยืมเงินต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และไม่ขัดต่อกฎหมายเพื่อป้องกันการเกิดปัญหา หรือความเสี่ยงทางกฎหมายในอนาคต
สัญญากู้ยืมเงิน สำคัญอย่างไร ?
สัญญากู้ยืมเงิน ถือเป็นเอกสารที่สำคัญมากในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างผู้กู้ และผู้ให้กู้ เนื่องจากสัญญากู้ยืมเงินจะเป็นตัวช่วยกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม เช่น จำนวนเงินที่ยืม อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการชำระคืน และวิธีการชำระเงิน ซึ่งช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีความชัดเจน และเข้าใจตรงกันในข้อกำหนดของการกู้ยืม
นอกจากนี้สัญญากู้ยืมเงินยังเป็นหลักฐานที่สำคัญในการป้องกันข้อพิพาททางกฎหมาย หากเกิดกรณีที่ผู้ยืมเงินไม่สามารถชำระเงินคืนตามกำหนด สัญญากู้ยืมเงินจะเป็นเครื่องมือในการยืนยันสิทธิ และการเรียกร้องทางกฎหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการทำสัญญากู้ยืมเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองสิทธิของทั้งสองฝ่าย และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เพื่อนยืมเงิน ต้องมีสัญญากู้ยืมเงินหรือไม่ ?
เรื่องสัญญากู้ยืมเงินในการยืมเงินระหว่างเพื่อน หากเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก และไม่มีข้อกำหนดที่ซับซ้อน อาจไม่จำเป็นต้องมีสัญญากู้ยืมเงินอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้กรณีไม่มีสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายลักษณ์อักษรผู้ให้ยืมเงินอาจต้องเผื่อใจกรณีที่ไม่ได้รับเงินคืนไว้ด้วย
อย่างไรก็ตามหากเป็นการยืมเงินจำนวนมาก หรือมีเงื่อนไขที่ชัดเจน เช่น การชำระคืนในระยะเวลาที่กำหนด หรือการมีดอกเบี้ย การทำสัญญากู้ยืมเงินจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีความชัดเจนในข้อตกลง และสามารถป้องกันข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะสัญญากู้ยืมเงินจะกลายเป็นหลักฐานที่สำคัญในการยืนยันเงื่อนไข และการเรียกร้องหากเกิดปัญหาในการชำระหนี้ อีกทั้งยังทำให้ทั้งสองฝ่ายมั่นใจในความยุติธรรม และการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง
วิธีทำสัญญากู้ยืมเงินที่มีผลทางกฎหมาย
การทำสัญญากู้ยืมเงินที่มีผลทางกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน และข้อกำหนดที่ชัดเจน เพื่อให้สัญญากู้ยืมเงินมีความถูกต้อง และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยเริ่มจากการตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนเงินที่ยืม อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการชำระคืน วิธีการชำระเงิน และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
จากนั้นต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้มีหลักฐานที่ชัดเจน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ วันที่ที่ทำสัญญากู้เงิน ชื่อผู้ขอกู้เงิน และผู้ให้กู้เงิน จำนวนเงินที่กู้ กำหนดชำระ (จะมีหรือไม่มีก็ได้) ดอกเบี้ย (ไม่เกิน 15% ต่อปี) เเต่ถ้าไม่ได้กำหนดเอาไว้กฎหมายเเพ่ง เเละพาณิชย์ มาตรา 7 กำหนดให้ใช้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ (กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายนิ้วมือ 2 คน)
โดนยืมเงิน แจ้งความได้ไหม หากไม่คืน ?
โดยปกติแล้ว เมื่อให้ยืมเงินแล้วไม่ได้คืนไม่จำเป็นต้องแจ้งความ แต่สามารถยื่นฟ้องศาลได้ โดยจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลหลักฐานการกู้ยืมเงินไว้ คือ
- กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ดังนั้นแม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย
- กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้ หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใด และตกลงจะใช้คืนเมื่อใด และที่สำคัญคือต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญด้วย
โดนยืมเงินไม่คืน ต้องทำอย่างไร ?
- ติดต่อ และเจรจา : หากถูกยืมเงิน และยังไม่ได้รับการชำระคืน ควรเริ่มต้นด้วยการติดต่อกับผู้ยืมเงินเพื่อขอให้ชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ การเจรจา และหาทางออกร่วมกันอาจช่วยให้สามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยไม่ต้องใช้ขั้นตอนทางกฎหมาย เช่น การขอผ่อนชำระ หรือขอให้จ่ายในระยะเวลาที่กำหนด
- รวบรวมหลักฐาน : ควรรวบรวมหลักฐานที่สามารถยืนยันการยืมเงินได้ เช่น ข้อความการโอนเงิน หลักฐานการตกลงยืมเงิน หรือพยานบุคคลที่สามารถยืนยันว่าได้มีการยืมเงินกันเกิดขึ้น การมีหลักฐานที่ชัดเจนจะช่วยให้สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ และสามารถเรียกร้องสิทธิได้อย่างถูกต้อง
- ทวงหนี้อย่างเป็นทางการ : หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ และผู้ยืมเงินยังไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลง สามารถส่งหนังสือทวงหนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนให้ผู้ยืมเงินทราบถึงความจำเป็นในการชำระหนี้ตามที่กำหนด โดยการทวงหนี้ในลักษณะนี้สามารถทำได้ด้วยการส่งจดหมาย หรือแจ้งทางอีเมล
- ดำเนินการฟ้องร้อง หรือแจ้งความหากมีการกระทำผิดกฎหมาย : หากพบว่าผู้ยืมเงินมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การหลอกลวง หรือฉ้อโกง การแจ้งความกับตำรวจสามารถทำได้ เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย และช่วยเรียกร้องหนี้ หรือดำเนินคดีได้
เราต่างก็ทราบกันดีว่า ไม่ว่าเป็นผู้ยืมเงิน หรือผู้ถูกยืมเงินก็ล้วนแต่ลำบากใจ ดังนั้นสำหรับใครที่ถูกขอยืมเงิน แต่ไม่อยากมานั่งทำสัญญากู้ยืมเงินให้วุ่นวาย ก็อาจลองแนะนำให้ผู้ที่มาขอยืมเงินลองใช้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของตัวเองมาใช้ กับ FINN ก่อนได้ https://go.finn-app.com/finnis0424 ไม่ต้องไปขอสินเชื่อ ไม่ต้องลำบากใจ แถมเราก็ไม่ต้องระแวงว่าจะได้เงินคืนหรือไม่นั่นเอง