ได้รับมรดก ต้องจ่ายภาษีหรือไม่ มีอะไรที่ควรรู้บ้าง ?
มรดก คืออะไร รับแล้วจะต้องมีการเสียภาษีหรือไม่ เสียในอัตราเท่าไหร่ มรดกจะตกเป็นของใคร มีการแบ่งลำดับขั้นการรับอย่างไร พินัยกรรม คืออะไร หนี้สินถือเป็นมรดกหรือไม่ ?
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เรื่องของมรดกก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป มาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมรดกกันไว้ รับมรดกต้องเสียภาษีหรือไม่ เมื่อบุคคลเสียชีวิตแล้วจะมีการจัดการ หรือแบ่งมรดกอย่างไร ลองอ่านดูไปพร้อม ๆ กัน
มรดก คืออะไร ?
สำนักงานกิจการยุติธรรมให้ความหมายคำว่ามรดกว่า มรดก คือ ทรัพย์สิน และสิทธิต่าง ๆ ที่เป็นของผู้ตายในขณะถึงแก่ความตาย โดยนอกจากทรัพย์สินที่มีมูลค่า เช่น บ้าน ที่ดิน หรือรถยนต์แล้วนั้น มรดกยังรวมถึงสิทธิ และหน้าที่ของผู้ตายด้วย สิทธิเหล่านี้อาจเป็นสิทธิที่จะได้รับหรือสิทธิที่คงมีอยู่ เช่น สิทธิตามสัญญาเช่าหรือสิทธิเรียกร้องเงินคืนในฐานะเจ้าหนี้
ทั้งนี้ความรับผิดที่ตกทอดจากผู้ตายก็ถือเป็นมรดกเช่นกัน เช่น ความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำผิดสัญญา หรือการก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น
กล่าวคือมรดกจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของทรัพย์สินถึงแก่ความตายเท่านั้น และในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าของทรัพย์สินสามารถจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ตามต้องการ เช่น การทำพินัยกรรมนั่นเอง
พินัยกรรม คืออะไร ?
ทราบกันไปแล้วว่าในการจัดการทรัพย์สินเพื่อส่งมอบมรดกหลังจากเสียชีวิตของผู้ตายนั้นสามารถทำได้ผ่านการทำพินัยกรรม แต่แน่นอนว่าอาจมีบางคนยังไม่ทราบว่าพินัยกรรมคืออะไร พินัยกรรม คือ เอกสาร หรือคำสั่งที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือสิทธิ์ต่าง ๆ จัดทำขึ้นเพื่อแสดงเจตจำนงในการแบ่งปันทรัพย์สิน และสิทธิของตนเมื่อถึงแก่ความตาย กล่าวได้ว่าพินัยกรรมถือเป็นการวางแผนล่วงหน้าในการจัดการทรัพย์สินอย่างเป็นระเบียบตามความประสงค์ของเจ้าของ โดยในพินัยกรรมอาจระบุถึงผู้รับทรัพย์สิน ผู้จัดการมรดก รวมถึงเงื่อนไขในการรับมรดกตามที่ผู้ทำพินัยกรรมเห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อให้พินัยกรรมมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามรูปแบบ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ภาษีมรดก คืออะไร ?
ภาษีมรดก คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้รับเมื่อทรัพย์สินของผู้ที่เสียชีวิตถูกส่งต่อให้แก่บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นบุพการี ทายาทโดยสายเลือด หรือบุคคลที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดแต่ได้รับมรดกส่วนนั้น
ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้ผู้ที่ได้รับมีหน้าที่ต้องเสียภาษีหากมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับเกินเกณฑ์ที่กำหนด โดยฐานภาษีจะคิดจากมูลค่าของมรดกที่เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป และอัตราภาษีจะต่างกันตามระดับความสัมพันธ์กับผู้ตาย ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมรดกมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในสังคม
รับมรดก ต้องจ่ายภาษีหรือไม่ เสียเท่าไหร่ ?
สำหรับการรับมรดกนั้นกฎหมายกำหนดให้ผู้รับต้องเสียภาษีตามอัตราที่จำแนกตามความสัมพันธ์กับผู้เสียชีวิต โดยหากผู้รับเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน อัตราภาษีจะอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเป็นผู้ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้เสียชีวิต อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้การเสียภาษีมรดกจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมูลค่าที่ได้รับเกิน 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีภาษีการให้ที่ต้องเสียควบคู่กับภาษีมรดกซึ่งครอบคลุมการโอนทรัพย์สินที่ผู้เสียชีวิตมอบให้ล่วงหน้าก่อนเสียชีวิต โดยผู้สืบสันดาน หรือบุพการีที่ได้รับทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าส่วนเกินจาก 20 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีที่อัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ที่ไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานจะเสียภาษี 5 เปอร์เซ็นต์จากทรัพย์สินที่มีมูลค่าส่วนเกินจาก 10 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะรวมถึงสังหาริมทรัพย์ด้วยนั่นเอง
มรดกตกเป็นของใคร ?
เมื่อมีการเสียชีวิตและผู้เสียชีวิตมีทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นจะตกทอดไปยังทายาทของผู้เสียชีวิตตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต
ทายาทโดยธรรม หมายถึง ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเนื่องจากมีความสัมพันธ์เป็นญาติโดยตรง เช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส พี่น้องร่วมบิดามารดา เป็นต้น โดยกฎหมายกำหนดลำดับชั้นการรับ ดังนี้
- ผู้สืบสันดาน
- บิดามารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
- ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลุง ป้า น้า อา
ในกรณีที่มีคู่สมรสตามกฎหมาย คู่สมรสนั้นจะมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทโดยธรรมเสมอ โดยคู่สมรสตามกฎหมายหมายถึงคู่สมรสที่ได้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับเจ้ามรดก และแม้ว่าจะมีทายาทโดยธรรมตามลำดับชั้นอื่น คู่สมรสก็ยังคงได้รับสิทธินี้
*ลำดับชั้นที่ใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิตที่สุดจะได้รับก่อน โดยทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิรับก็ต่อเมื่อไม่มีการทำพินัยกรรมหรือทำพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล
ผู้รับพินัยกรรม
ผู้รับพินัยกรรม คือ บุคคลที่ผู้เสียชีวิตระบุชื่อไว้โดยเฉพาะในพินัยกรรมเพื่อให้ได้รับทรัพย์สินมรดก ผู้รับพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นญาติ หากผู้เสียชีวิตทำพินัยกรรมระบุให้ใครได้รับทรัพย์สิน ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของบุคคลนั้นตามที่ระบุในพินัยกรรม
หนี้ของผู้เสียชีวิต ถือเป็นมรดกไหม ?
แน่นอนว่าจะต้องมีผู้ที่สงสัยว่าแล้วหนี้ของผู้เสียชีวิตล่ะ ถือเป็นมรดกหรือไม่ ทั้งนี้หนี้ของผู้เสียชีวิตถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกตามกฎหมาย โดยนอกจากทรัพย์สิน และสิทธิต่างๆ ที่จะถูกส่งต่อให้แก่ทายาทแล้ว หนี้สินที่ผู้เสียชีวิตมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายก็จะตกทอดไปยังทายาทด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า ทายาทที่รับมรดกจะต้องรับผิดชอบชำระหนี้ของผู้เสียชีวิตตามส่วนที่ได้รับ แต่จะไม่เกินมูลค่าของทรัพย์ที่ได้รับมา หากหนี้สินมีมูลค่าสูงกว่ามรดก ทายาทไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ในส่วนที่เกินจากทรัพย์มรดกนั้นนั่นเอง
ข้อมูลเหล่านี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องมรดก และการเสียภาษีมรดกพื้นฐานที่เราทุกคนควรมีเป็นความรู้ติดตัวกันเอาไว้ จะได้สามารถรักษาผลประโยชน์ของตนเองกันได้ ที่สำคัญจะต้องรู้จัดวางแผนทางการเงินในอนาคตให้กับตัวเองเอาไว้ พึงระลึกว่าหากวันหนึ่งเราต้องกลายเป็นผู้ส่งมอบมรดกให้คนข้างหลัง ควรส่งมอบทรัพย์สินไม่ใช่หนี้สินแต่อย่างใด พยายามปลดหนี้ที่มี และเก็บเงินกันเอาไว้ เมื่อไหร่ที่มีบิลล่วงหน้าต้องจ่าย แนะนำให้ลองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของตนเองมาใช้กับ FINN https://go.finn-app.com/finnis0424 ไม่ต้องไปกู้สินเชื่อเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเอง!